วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การนวดแผนไทย



 การนวดแผนไทย

ความเป็นมา
            การนวดแบบไทยนี้ จริงๆ แล้วสืบค้นประวัติการเริ่มกำเนิดอย่างถูกต้องจริงจังนั้นไม่ได้ เนื่องจากคนสมัยก่อนไม่ได้มีการบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหลักฐานแน่นอน ฉะนั้นเราคงจะได้แต่ประมาณเอาจากหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าการนวดคงมีมานานมากตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไป เพราะพื้นฐานการนวดนั้นมาจากการใช้มือ กด คลำ ลูบ ไปตามร่างกายเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวดเมื่อยล้า มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ที่จะมีแบบแผนเป็นเอกลักษณ์ว่าเป็นการนวดของไทยเรานั้นคงจะต้องเริ่มกันที่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นละ ที่บันทึกไว้ว่า การแพทย์แผนไทยของเรานั้นอยู่ในยุคเฟื่องฟูและรุ่งเรืองที่สุด มีการตรวจสอบตำราต่าง ๆ มีการตั้งกรมหมอนวด และยังมีกรมหมอตา กรมหมอเด็กขึ้น ชาวบ้านนิยมการรักษาแบบไทยกันมาก และการนวดก็เป็นหัวใจสำคัญชิ้นหนึ่งในการบำบัดรักษาที่ควบคู่ไปกับสมุนไพรในสมัยนั้น ยังมีการแต่งตำราการนวดไว้อย่างเป็นแบบแผน มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบด้วย
                สำหรับในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยานั้น ในยุคศรีวิชัย ละโว้ ขอมหรือแม้ในยุคสุโขทัยก็จะมีการวดไทยเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีบันทึกของการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมีความเจริญมาเป็นลำดับ แต่มารุ่งเรืองที่สุดในยุคกรุงศรีอยุธยานี้
                เมื่อมียุคที่รุ่งเรืองที่สุด ก็ต้องมียุคที่ตกต่ำลงไปเป็นธรรมดาหลังจากผ่านยุคสมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงธนบุรีมีสงครามเกิดขึ้น ตำรับตำราการแพทย์ต่าง ๆ ได้ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งตำราการนวดไทยด้วย แม้กระนั้นก็ยังมีการพยายามจะรักษาการแพทย์แผนไทยเอาไว้อย่างต่อเนื่อง จนมาเข้าสู่ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทางเมืองเริ่มผ่อนคลายลงไป เราก็มีเวลามารวบรวมความรู้ในด้านต่าง ๆ กันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้จัดรวบรวมความรู้ทางการแพทย์แผนไทยไว้ที่วัดโพธิ์ มีการสลักความรู้และปั้นหุ่นฤาษีดัดตนเป็นจำนวนมากเก็บรักษาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาหาความรู้กัน ซึ่งก็นับว่าเป็นการปลุกวิชาการแพทย์แผนไทยขึ้นมาอีกครั้ง

                พอมาถึงรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยเราเริ่มมีการติดต่อกับชาวตะวันตกมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน และเราก็เริ่มนำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาใช้ การแพทย์แผนไทยของเราก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป เปลี่ยนมาใช้ยาเม็ด ยาฉีดแทนการใช้สมุนไพรเหมือนเมื่อก่อน การนวดไทยก็ถูกผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่มากเท่าการใช้สมุนไพร นวดไทยยังคงมีการใช้สืบต่อมาเรื่อย ๆ  โดยไม่มีการขาดตอน แม้ว่าจะไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตาเหมือนเมื่อก่อนก็ตาม หมอนวดไทยที่มีฝีมือยังคงมีอยู่ในทุกสมัย โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 5 และ 6 มีหมอนวดเก่ง ๆ อยู่มาก และได้มีการสืบทอดความรู้กันต่อมา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การถ่ายทอดวิชานั้นไม่ได้กว้างขวางเท่าไรนัก มักจะสอนกันในหมู่เครือญาติหรือผู้ที่สนใจจริง ๆ เท่านั้น และเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว ไม่ได้มีตำราไว้เป็นหลักฐาน ฉะนั้นความสามารถเฉพาะตัวของการนวดไทยจึงสูญหายไปพร้อม ๆ กับการจากไปของหมอนวดนั้น ๆ วิชาการนวดไทยจึงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร
                การนวดเท่าที่มีอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ก็เป็นการสืบทอดวิชาที่เหลืออยู่ ซึ่งจะมีมากน้อยเท่าใดนั้นคงจะต้องมีการปรับปรุงและศึกษาค้นคว้ากันอีกต่อไป เพื่อให้การนวดไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาอีกครั้ง แม้กระนั้นการนวดไทยที่มีอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยังมีของดีอยู่มาก ยังสามารถบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยและช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่าการนวดไทยจะเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง และไม่ใช่แต่เฉพาะประชาชนชาวไทยเท่านั้น คนทั่วโลกที่รู้จักการนวดไทยก็ให้การยอมรับนับถือเช่นกัน
                นี่เป็นประวัติความเป็นมาอย่างคร่าว ๆ เท่าที่เราพอจะค้นหามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยกันก่อน



ประเภทการนวดไทย

                เนื่องจากการนวดไทยเป็นสิ่งที่สนใจของประชาชนกันมาทุกยุคทุกสมัย และไม่สนใจเฉพาะคนสูงอายุเท่านั้น คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้บริการนวดไทยได้ทั้งนั้น ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ไม่เกี่ยว ฐานะก็ไม่เกี่ยว ทุกคนล้วนอยากได้รับการบำบัดด้วยนวดไทยเสมอกัน ฉะนั้นเมื่อนวดไทยจะต้องให้บริการแก่ชนทุกระดับจึงมีการพัฒนาวิชาการนวดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งแบ่งกลุ่มเป้าหมายไว้เฉพาะ 2 กลุ่ม และแบ่งประเภทการนวดออกเป็น 2 แบบเช่นกันคือ
  



1.การนวดแบบราชสำนัก
2.การนวดแบบเชลยศักดิ์


1.การนวดแบบราชสำนัก
                กลุ่มเป้าหมายของการนวดนี้คือ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่อยู่ในรั้วในวัง เป็นต้น ฉะนั้นการนวดจึงจำเป็นต้องมี ความสุภาพเรียบร้อย มีมารยาทดี มีความเคารพ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอะไรทำนองนี้ล่ะ ฉะนั้นการนวดจึงถูกออกแบบให้มีความสุภาพมาก นั้นคือจะใช้เพียงนิ้วมือและมือเท่านั้นในการนวดสัมผัสกับผู้ถูกนวด จะไม่ใช้ศอก เข่า เท้า อะไรใดๆทั้งสิ้น และก็ต้องเลือกผู้ที่จะมาเรียนการนวดแบบนี้อย่างพิถีพิถัน ต้องดูความตั้งใจจริง ต้องดูรูปร่างว่าเหมาะสมจะเป็นหมอนวดหรือไม่ ดูนิสัยใจคอว่าเป็นอย่างไร ฯลฯ
          
               สรุปก็คือต้องการได้คนที่ดีมาเป็นลูกศิษย์ และการเรียนการสอนก็จะเป็นแบบเข้มข้น มีการเรียนทฤษฏีทางด้านโครงสร้างของร่างกาย การนวดด้วยแรงเท่าใด ตำแหน่งใด เวลาเท่าใด พร้อมทั้งสอนเรื่องจรรยามารยาทไปด้วย มีทั้งการสาธิตภาคปฏิบัติ และภาคทฤษฎี อย่างจริงจังอาจใช้เวลาเรียนนาน 3-5 ปี จนกว่าครูจะพอใจในฝีมือจึงจะยอมให้ออกไปเป็นหมอนวดได้


2.การนวดแบบเชลยศักดิ์       

               การนวดแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการนวดแบบทั่วไปก็ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนี่เอง ไม่ได้มียศศักดิ์อะไร ฉะนั้นแนวทางการนวดจึงค่อนข้างจะเป็นกันเอง ไม่ต้องมีความสุภาพมากมายอะไรนัก สามารถใช้ทั้งมือ เท้า ศอก เข่าได้ตามสบาย มีทั้งการดัด การดึง การลูบ ใช้เทคนิคต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน และมีความใกล้ชิดกับลูกค้าได้มากกว่า

                การเรียนการสอนก็จะไม่เคร่งครัดมากนัก มักจะเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว เน้นที่ภาคปฏิบัติมากกว่า ใครอยากเรียนก็สมัครเรียนได้ ไม่ต้องเลือกเฟ้นลูกศิษย์มากนัก ระยะเวลาเรียนก็แล้วแต่ตกลงกับอาจารย์ เรียนจนอาจารย์พิจารณาว่าใช้ได้ก็ถือว่าจบออกไปเป็นหมอนวดได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการเรียนการสอนแบบนี้กันอยู่ เช่นที่วัดโพธิ์ วัดสามพระยา และวัดปรินายก เป็นต้น
                สรุปก็คือ การนวดไทยทั้งสองแบบนี้จะมีความแตกต่างกันในวิธีการนวดอยู่ โดยเฉพาะการเน้นที่ความสุภาพสำรวมของผู้นวด แต่โดยหลักการใหญ่ ๆ แล้วจะเหมือนกัน คือให้มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกดจุดที่มีปัญหาเพื่อบำบัดรักษาโรค ในปัจจุบันเราจะเห็นรูปแบบการนวดแบบทั่วไปนี้ได้มากกว่า ซึ่งเปิดบริการนวดกันอยู่มากมาย สำหรับการนวดแบบราชสำนักนั้น จะมีการสอนกันในโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ซึ่งถือเป็นการนวดที่ได้มาตรฐาน ส่วนประชาชนที่สนใจอยากจะเรียนนวดไทยก็คงจะสามารถฝึกเรียนแบบนวดทั่วไปได้ง่ายตามวัด ต่าง ๆ ที่เปิดสอนอยู่ แต่ถ้าจะเรียนแบบราชสำนักคงจะลำบากกว่า และใช้เวลาในการเรียนมากกว่า

การนวดให้ถูกหลักเกณฑ์
                การนวดคนไข้นั้นต้องพิจารณาถึงรูปร่างว่าอ้วนมาก อ้วนปานกลาง อ้วนน้อย ผอมมาก ผอมปานกลาง ผอมน้อย ตลอดจนต้องพิจารณาถึงอายุของคนไข้ด้วยว่าเป็นหนุ่มสาว เป็นคนอายุมาก เป็นคนชรา จะได้กำหนดไว้ในใจว่าจะนวดคนไข้อย่างไร ใช้น้ำหนักมืออย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพคนไข้นั้น ๆ 
                การนวดเส้นเอ็นด้วยการจิกนิ้วมือลงไปตรง ๆ แรงๆ หรือใช้ข้อศอกกดคลึงแรง ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อช้ำได้ไม่ถูกต้อง

                อันกล้ามเนื้อลายนี้ สามารถยืดหดได้ตามการบังคับของจิตใจสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้และสิ่งกระตุ้นได้ ควรใช้ฝ่ามือหรือนิ้วมือคลึงกดลงไปช้า ๆ อย่าเร็ว ค่อย ๆ นวดกดซ้ำ ๆ บางท่านที่มานวดท่านปวดเมื่อยมากก็จะสั่งให้กดแรง ๆ อย่าไปตามใจคนไข้นัก  เราเป็นหมอนวดต้องคะเนความหนักเบาด้วยตัวเราเอง ระวังอย่าให้เนื้อช้ำได้
                ส่วนการดึงข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ต้องระวังอย่าฝืนกระตุกแรง ๆ ควรใช้นิ้วมือคลึงนวดจะดีกว่า พอให้กล้ามเนื้อคลายเครียดและพอให้เส้นเอ็นหย่อน ใช้ยาสมุนไพรสดประคบบ้างก็จะดี ส่วนการดัดขาดัดตัวพับขาพับข้อเข่า ต้องทำอย่างช้า ๆ ระวังอย่าหักโหมจะเคล็ดและช้ำได้ หมอนวดต้องสังเกตคนมานวดด้วยว่ามีอาการอย่างไร เช่นร่างกายสะบัดร้อนสะบัดหนาวปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ลมอัมพฤกษ์กล้า (เส้นซ้ายอิทาหน้าท้องตึงมาก) ลักษณะเส้นใหญ่พิการแข็งตึงมาก เส้นเล็กเส้นน้อยก็จะพลอยกระทบกันหมด ลักษณะท้องแข็งเป็นท่อนเป็นลำแข็ง เสียดยอดอก ร่างกายตึงตัวแข็งกระด้าง หายใจไม่ทั่วท้อง นอนไม่หลับเส้นขอดแข็งเป็นเกลียวขึงตึงทั่วร่างกาย ถ้าพบคนไข้ลักษณะนี้ จะต้องพิจารณาตรวจดูลมหน้าท้อง ตรวจดูเส้นชีพจรเท้าและเส้นชีพจรมือ ดูเส้นให้แน่ชัดว่าเป็นเพราะเส้นเอ็นหรือเพราะเลือดลมพิการ จึงจะทำการนวดให้

    

มารยาทในการนวด

                เนื่องจากการนวดไทยเราเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีวัฒนธรรมอันดีงามมาช้านาน การจะนวดจึงต้องมีมารยาทในการนวดด้วยเสมอเนื่องจากการนวดจะเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างคนสองคนโดยตรงซึ่งคนไทยเราไม่ได้ถือว่าการถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นเรื่องธรรมดา เราจึงควรระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ โบราณจึงมีหลักเกณฑ์มารยาทการนวดพอช่วยย้ำเตือนมาให้ดังนี้

                1.ก่อนทำการนวด ผู้นวดจะต้องพนมมือ ระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เรา ตั้งจิตเป็นสมาธิ เพื่อให้การนวดครั้งนี้ได้ผลสำเร็จ

                2.ในการนวดแบบราชสำนัก ผู้นวดจะต้องยกมือไหว้ผู้ถูกนวดเพื่อขอขมาที่จะต้องมีการสัมผัสร่างกายกันตามประเพณีและวัฒนธรรมของไทย แต่การนวดแบบทั่วไปอาจจะไม่ต้องทำก็ได้ ถือว่าเป็นกันเองมากกว่า แต่ก็เป็นมารยาทหนึ่งที่ควรปฏิบัติ

                3.การเข้าหาผู้ถูกนวด ในสมัยก่อนจะใช้วิธีนี้เดินเข่าเข้าไป แต่สมัยนี้คงไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ แต่ไม่ควรจะเข้าไปนั่งใกล้ชิดผู้ถูกนวดมากเกินไป และเวลานวดควรระวังไม่อยู่ในลักษณะที่คร่อมตัวผู้ถูกนวด ดูแล้วจะไม่เหมาะสม

                4.เวลานวดอยู่ไม่ควรหายใจรดตัวผู้ถูกนวด ควรหันหน้าไปด้านข้างแทน


          5.ไม่ควรกินอะไรระหว่างนวด หรือทะไรที่จะเป็นการรบกวนผู้ถูกนวด

          6.ควรสังเกตอาการผู้ถูกนวดเสมอ สอบถามว่ามีการเจ็บปวดหรือไม่ ถ้าผู้ถูกนวดบอกให้หยุดนวดก็ควรหยุดนวดทันที
         
ข้อปฏิบัติหลังการนวด
                หลังจากการนวด ผู้นวดอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยหรืออ่อนล้าที่มือ หรือ  นิ้ว ควรช่วยแก้ไขโดยการใช้ความร้อนประคบลงไป หรือจะแช่มือในน้ำอุ่นก็ได้ พร้อมกับนวดที่ฝ่ามือของตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อของนิ้วและมือผ่อนคลาย เลือดจะมาเลี้ยงที่มือมากขึ้นทำให้บรรเทาจากอาการปวดเมื่อยลงไปได้
                สำหรับผู้ถูกนวด เมื่อนวดเสร็จแล้วก็จะสบายตัวขึ้น ไม่มีข้อปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าผู้ถูกนวดมานวดเพื่อการรักษาโรคอาจต้องมีข้อปฏิบัติ เพื่อให้การหายของโรคเร็วขึ้น เช่น งดอาหารบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อโรค จำพวกของดอง ของทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เหล้า เบียร์ เป็นต้น ดูแลระมัดระวังส่วนที่บาดเจ็บเป็นพิเศษ อย่าให้มีการกระทบกระเทือน และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น และคำแนะนำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคของตนเอง ซึ่งผู้นวดจะต้องให้ความรู้แก่คนไข้ไปปฏิบัติเป็นราย ๆ ไป
ผู้ที่เราไม่ควรนวด

            ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถมารับการนวดได้ เพราะการนวดมีทั้งคุณและโทษเช่นกัน ถ้านำไปใช้ถูกต้องเหมาะสมก็ให้คุณอนันต์ ถ้านำไปใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ให้โทษมหันต์ เราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย มีอาการหลาย ๆ อย่างที่จะบอกเราได้ว่าคนนี้ไม่ควรจะนวด เพราะจะทำให้เกิดอันตราย หรือเสียเวลาเปล่า เนื่องจากนวดไปก็ไม่ได้ผล




อาการหรือประวัติของคนไข้ที่เราไม่ควรใช้วิธีการนวด เช่น
       
      - มีอาการปวดมากจนนอนไม่หลับ
      - มีไข้ หน้าแดง ปากแดง
      - มีบาดแผล
      - มีผื่นขึ้นตามตัว หรือ สงสัยว่าอาจเป็นโรคผิวหนัง
      - มีอาการมึนชาตามร่างกาย
      - แขนขาอ่อนแรง
      - วิงเวียนเมื่อมีอาการเคลื่อนไหว
      - มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน
      - กลั้นปัสสาวะไม่ได้
      - มือสั่นเดินเซ




ตำรับยาสมุนไพร



ยารักษาโรคเหน็บชา
เมื่อมี อาการปวดเมื่อยที่น่อง ขาและแขน จนทำให้รู้สึกว่าเวลาเดินจะหนักน่อง ส่วนขาและแขนก็รู้สึกปวดและสั่นเป็นเหน็บ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก เหนื่อยง่ายและหอบทำให้อ่อนเพลีย บางคนเป็นแล้วบวน บางคนเป็นแล้วผอมลงและซีด ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค
ส่วนผสมยา
ยาดำ, พริกไทย, การบูร, ข่า, ใบมะกา, ดีเกลือ, แก่นขนุน
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาต้มสำหรับรับประทาน
ส่วนยาสำหรับทาให้ผสมตามสัดส่วนดังนี้ การบูร ไพล ผิวมะกรูด น้ำมันมะพร้าว ว่านนางคำ
นำทั้งหมดในอัตราส่วนเท่ากันมาต้มและใช้สำหรับทา

ยารักษาโรคขี้กลาก
เป็นอาการ ของโรคผิวหนัง เกิดจากความสกปรก จะมีผื่นสีขาวและคันขึ้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ ลักษณะวงกลมเกิดเป็นจุด ๆ ไป หากเกิดอาการคันมากและเกา เม็ดเล็ก ๆ นั้นจะแตกเป็นขุยและลามได้ ดังนั้นการได้ยาทาจะช่วยให้หายเร็วกว่าปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ
 

ส่วนผสมยา

ขนานที่ ๑
สบู่กรด, ปูนแดง
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาบดผสมกันใช้ทาผื่นที่แตกแล้ว หรือ ใช้กระเทียมผ่านบาง ๆ และทุบให้นิ่ม นำไปถูผื่นที่แตกแล้วหลาย ๆ ครั้ง โบราณท่านกล่าวไว้ว่าให้กลั้นหายใจและถูหลังตื่นนอนตอนเช้า จะทำให้หายขาด

ขนานที่ ๒
น้ำมันยาง, ดินปืน, กาบหมาก ก่อนใช้นำไปเผาไฟ
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาบดผสมกันใช้ทาผื่นที่แตกแล้ว

ผลของการนวด
เรื่องผลของการนวดเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ เราจะได้เข้าใจว่าการนวดมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร และสามารถอธิบายให้คนไข้ฟังได้ ความจริงในระหว่างการเรียนหลักพื้นฐานก็มีการบอกถึงผลการนวดไปเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่ในที่นี้จะขอนำมาพูดถึงผลการนวดเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เราจดจำได้ง่าย
การนวดนั้นมีผลดีต่อร่างกายเกือบทุกระบบ แต่ที่มีผลโดดเด่นมากที่สุดก็คือ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
                การนวดนั้นมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ เพราะการนวดทุกชนิดต้องผ่านแรงเข้าไปสู่กล้ามเนื้อทั้งสิ้น ผลดีเด่นชัดเจนที่สุดคือ การทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง กล้ามเนื้อที่ใช้งานมานานจะมีการอ่อนล้า และปวดเมื่อย ซึ่งร่างกายจะมีกลไกการป้องกันตัวต่อมา โดยการทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อเกร็งตัวอยู่จะมีการคั่งของสารเคมีในร่างกายซึ่งอยู่ในกล้ามเนื้อ มีเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอจะทำให้อาการปวดเกิดขึ้นตามมา และจะทำให้มีความเครียดเพิ่มเข้ามาด้วยเป็นวงจรต่อเนื่องกับหลาย ๆ ระบบ
                เมื่อเรานวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ตึงตัวแข็งเกร็งจะถูกทำให้อ่อนนิ่มลง กล้ามเนื้อจะคลายตัวออก ผ่อนพัก ทำให้สารพิษที่คั่งค้างในกล้ามเนื้อไหลเวียนออกไปได้ ขณะเดียวกันเลือดก็นำสารอาหารใหม่ ๆ เข้า



มาเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดี กล้ามเนื้อจึงมีประสิทธิภาพดีขึ้น กล้ามเนื้อจะมีการยืดหยุ่นที่ดีขึ้นด้วย นั่นเป็นผลที่ดีตามมา ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น อาการปวดเมื่อยต่าง ๆ จะหายไป คนไข้หรือผู้นวดก็จะรู้สึกตัวเบาสบาย

ระบบการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
            เวลาที่เรานวดไปตามร่างกายนั้น จะเป็นการกระตุ้นเส้นเลือดที่มีทั่วร่างกายให้ทำงานตื่นตัวกระฉับกระเฉงขึ้น แรงที่ผ่านไปในกล้ามเนื้อจะส่งต่อไปถึงเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดมีการบีบตัวได้ดีขึ้น ช่วยให้เลือดไหลไปตามเส้นเลือดได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เลือดที่ไหลเวียนดีจะไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น เทคนิคการนวดบางแบบจะช่วยให้เลือดที่คั่งอยู่บางจุดผ่อนคลายออก และทำให้บริเวณนั้นมีเลือดใหม่ไหลเวียนมาเลี้ยงมากขึ้น ลักษณะการนวดเพื่อสุขภาพมักจะทำการนวดจาก
ส่วนปลายของร่างกายเข้าหาส่วนกลางลำตัว จะช่วยในการไหลกลับของเลือดให้เร็วขึ้น และนำเลือดใหม่มาเลี้ยงอวัยวะ อวัยวะทุกส่วนจึงได้รับผลดีจากการนวดไปพร้อม ๆ กันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแต่กล้ามเนื้อเท่านั้น


             ส่วนทางด้านการไหลเวียนน้ำเหลืองนั้นก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะโดยลักษณะธรรมชาติของน้ำเหลืองนั้นจะไม่มีการไหลเวียนโดยใช้อวัยวะบีบตัวเหมือนกับที่ระบบไหลเวียนเลือดมีหัวใจเป็นตัวบีบปั๊มเลือด แต่ระบบน้ำเหลืองจะไหลเวียนได้ดีจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือมีแรงจากภายนอกไปช่วยกระตุ้นทางเดินของน้ำเหลืองการนวดเป็นแรงภายนอกชนิดหนึ่งที่กระทำต่อกล้ามเนื้อ ซึ่งภายในกล้ามเนื้อจะมีน้ำเหลืองกระจายอยู่ทั่วไปมากมายทีเดียว แรงจากการนวดนี้จะช่วยให้น้ำเหลืองไหลผ่านท่อ
                  


           น้ำเหลืองได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้ระบบน้ำเหลืองมีการไหลเวียนดีขึ้น น้ำเหลืองที่จะไหลเวียนไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้ดี ต่อมน้ำเหลืองก็ถูกกระตุ้นให้ทำงานกักเก็บและฆ่าเชื้อโรคได้ดีขึ้น สร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกายได้มากขึ้นและยังส่งภูมิต้านทานเหล่านั้นไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือการนวดมีผลทำให้ระบบภูมิต้านทานแข็งแรงขึ้น เป็นผลให้มีสุขภาพดี
                สำหรับระบบอื่น ๆ ของร่างกายนั้น การนวดก็มีผลในการกระตุ้นการทำงานให้ดีขึ้นเช่นกัน เช่น





ระบบประสาท
จะถูกกระตุ้นเพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย สมองจะได้พักผ่อน คลายความเครียด และความวิตกกังวลต่าง ๆ ลงไป คนถูกนวดจะรู้สึกโล่ง เบา สบาย เป็นการผ่อนคลายไปพร้อมกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลังการนวดสมองจะสดชื่นแจ่มใสขึ้น คิดอะไรได้ปลอดโปร่งขึ้น
ระบบย่อยอาหาร
                ก็ทำงานได้ดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการนวดทำให้อวัยวะภายในช่องท้องมีการเคลื่อนไหว มีการบีบตัวของกระเพราะอาหารและลำไส้มากขึ้น ทำให้การย่อยอาหาร การดูดซึมอาหาร และ การขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ และทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย ระบบย่อยอาหารจึงเป็นระบบที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นถ้ามันมีการทำงานที่ดีเราก็จะมีสุขภาพดีไปด้วย การนวดจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบนี้ได้
ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์
              ก็มีผลคล้ายกับระบบย่อยอาหาร คืออวัยวะต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวมากขึ้น มีการบีบตัวที่ดีขึ้น ท่อทางเดินต่าง ๆ จะไม่อุดตัน ทำให้การไหลเวียนปัสสาวะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การที่อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรงเป็นปกติดีแน่นอน


ระบบผิวหนัง
             จะถูกกระตุ้นต่อการนวดโดยตรง เนื่องจากผิวหนังเป็นด่านแรกที่ถูกนวด ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังจะถูกกระตุ้นให้มีการหลั่งเหงื่อและไขมันออกมาเลี้ยงผิวหนังให้ชุ่มชื่นขึ้นทำให้ผิวพรรณดูผุดผ่องสวยงามมีน้ำมีนวลขึ้น ได้ผลทั้งในแง่ของความสวยงาม และความแข็งแรงของผิวหนังที่จะต้านเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วย
             ทั้งหมดนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อได้รับการนวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะทำการนวดทั้งตัวและใช้เวลานานพอสมควร จะช่วยกระตุ้นระบบต่าง ๆ เหล่านี้ได้เกือบทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่น่าแลปกใจเลยที่หลาย ๆ คนจะติดการนวด เพราะหลังนวดเสร็จแล้วจะรู้สึกสบายไปหมดทั้งตัว นั่นเป็นเพราะการนวดทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายดังนี้นี่เอง


ข้อควรระวังในการนวด
ข้อควรระวังทั่วไป
1.ไม่ควรนวดผู้ที่หิวจัด หรือเพิ่งทานอาหารมาใหม่ ๆ อย่างน้อยควรนวดหลังจากทานอาหารแล้ว 30 นาทีขึ้นไป เพื่อไม่ให้การนวดไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร เพราะการนวดจะทำให้เลือดขึ้นมาเลี้ยงที่บริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้อมากขึ้น จะทำให้อวัยวะภายในได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อย ส่วนผู้ที่หิวนั้นก็จะไม่สบายตัวอยู่แล้ว จะมีน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรไปทานอาหารเสียก่อน

2.ระมัดระวังในการใช้แรงนวดให้เหมาะสมที่สุด การนวดจะต้องไม่ทำให้เกิดความระบมหรือมีการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น การใช้แรงมากเกินไปมักจะเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หัดนวดใหม่ ๆ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นี่เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุด


3.ในผู้สูงอายุทั่วไปมักจะมีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกเปราะ เป็นต้น เราต้องนวดอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

4.ในผู้ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุมา ควรให้แพทย์จัดการรักษาให้พ้นขีดอันตรายก่อน จึงจะทำการนวดได้ และต้องระวังเรื่องการอักเสบให้มาก เพราะคนไข้จะมีเนื้อเยื่ออ่อนแอกว่าปกติ

5.ในคนที่มีการติดเชื้อหรือโรคติดต่อ อาจจะแพร่เชื้อมาถึงเราได้ ถ้าจะนวดควรระวังตัวเองด้วย แต่ถ้าคนไข้ยังอยู่ในระยะแรกซึ่งมีไข้สูงอยู่ เราจะไม่นวดเลย

ข้อควรระวังในส่วนของร่างกาย
                การนวดนั้นจะนวดร่างกายทั่วทั้งร่าง ส่วนที่กระทบกับการนวดมากที่สุดก็คือ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง ซึ่งถ้าเรานวดไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะส่วนสำคัญเหล่านี้ได้ ในร่างกายของเราแต่ละส่วนจะมีจุดอ่อนจุดอันตรายอยู่ไม่เหมือนกัน เราควรจะได้ทราบถึงจุดอ่อนเหล่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนี้
                ศีรษะ : จุดอ่อนคือบริเวณทัดดอกไม้ คือบริเวณกะโหลกด้านข้างที่ต่อจากขมับเข้าไปจะเป็นส่วนของกะโหลกศีรษะที่บางที่สุด ถ้าถูกตีหรือถูกกดแรงๆ จะแตกยุบเข้าไปกดเส้นประสาทและสมองทำให้พิการหรือตายได้ ฉะนั้นควรนวดแต่เพียงเบาๆ เท่านั้น
                บริเวณกลางกระหม่อมนั้นก็ถือเป็นจุดอันตรายอีกตำแหน่งหนึ่งสำหรับการนวดเด็ก เนื่องจากกระหม่อมของเด็กยังไม่เจริญเต็มที่จะมีช่องว่างอยู่ตรงนี้ ถ้าได้รับแรงกดหรือกระแทกจะทำให้สมองได้รับอันตรายไปด้วย
                ใบหน้า : จุดอ่อนคือบริเวณหน้า ใบหู ตามขากรรไกรลงมาบริเวณนี้จะมีต่อมน้ำลาย และเส้นประสาทอยู่ ถ้ากระทบกระแทกรุนแรงจะทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นอัมพาตของใบหน้าได้
                คอ  :  จุดอ่อนคือบริเวณด้านหน้าของคอ และใต้คางลงมาจนถึงระดับไหปลาร้า เนื่องจากบริเวณนี้มีทั้งเส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำลาย และเส้นประสาทมากมายวิ่งผ่านไปเลี้ยงแขนและคอ การกดนวดอาจไปกดทับการไหลเวียนเลือดหรือกดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ทำให้หมอสติถึงตายได้ จึงไม่ควรนวดที่ด้านหน้าของคอเลย และไม่ควรใช้เทคนิคการดัดกับคอ อาจเกิดอันตรายรุนแรงได้ง่าย



                 ไหล่ : จุดอ่อนคือบริเวณกึ่งกลางของหัวไหล่ เพราะเป็นที่อยู่ของถุงน้ำหล่อลื่นข้อไหล่ ถ้าเรานวดกดจุดแรงเกินไปจะทำให้อักเสบและมีความเจ็บปวดรุนแรงได้
                รักแร้ : จุดอ่อนคือทั้งหมดในรักแร้ เพราะเป็นที่ผ่านของเส้นเลือดและเส้นประสาทที่วิ่งลงไปเลี้ยงแขน การกดนวดบริเวณนี้ไม่ควรทำ การเปิดประตูลมที่บริเวณนี้ต้องระวังมากเป็นพิเศษอย่าให้นานเกินไป
                ต้นแขน : จุดอ่อนคือบริเวณด้านข้างต้นแขน จะมีเส้นประสาททอดผ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ตื้น ถ้าถูกแรงกดมากจะเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทนี้ ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อมือเสียไป
                ข้อศอก : จุดอ่อนคือบริเวณด้านในของข้อศอกจะมีเส้นประสาทวิ่งผ่าน มักจะถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย การนวดบริเวณนี้ควรหลีกเลี่ยงการกดที่เส้นประสาทดังกล่าว นอกจากนี้ บริเวณข้อพับจะมีเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญ เราจะไม่กดนวดที่ข้อพับเลย ส่วนบริเวณกระดูกทั้งสองด้านของข้อศอกที่เราคลำได้นั้นจะเป็นที่เกาะของเส้นเอ็นบาง ๆ ไม่ควรนวดเส้นเอ็นตรงบริเวณนี้แรงมากนัก
                ข้อมือ : จุดอ่อนคือด้านหน้าและด้านข้างหัวแม่มือ เพราะเป็นที่ผ่านของเส้นเลือดและเส้นประสาทลงไปเลี้ยงมือ คนไข้ที่มีอาการชามืออาจเกิดจากพังผืดข้อมือหดรั้ง การนวดอาจช่วยได้บ้าง แต่ต้องระวังมากเช่นกันเพราะมีการอักเสบของเส้นประสาทได้ง่ายตรงบริเวณนี้
                หลัง : จุดอ่อนคือกระดูกสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไขสันหลังอยู่ ถ้าขึ้นไปนวดเหยียบรุนแรงอาจทำให้กระดูกสันหลังหักหรือเคลื่อนได้ จะเป็นอันตรายต่อไขสันหลังและเส้นประสาท ทำให้เป็นอัมพาตถึงพิการได้ ต้องระวังมากเป็นพิเศษจริง ๆ
                ท้อง : จุดอ่อนคือทั้งหมดของช่องท้อง เนื่องจากมีอวัยวะภายในอยู่มาก ดังนั้นการนวดท้องจึงต้องใช้แรงน้อย และทำด้วยความนุ่มนวลกว่าการนวดที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การเปิดประตูลมที่ท้องไม่ควรนานเกินไป และควรทำตอนท้องว่าง

               สะโพก : จุดอ่อนคือบริเวณก้นส่วนบน ซึ่งเป็นทางออกของเส้นประสาทที่ลงไปเลี้ยงขา การกดตรงบริเวณนี้ผู้ถูกกดจะรู้สึกเจ็บเสียวแปลบที่ขาได้ ควรระวังเป็นพิเศษ
               ข้อเข่า : จุดอ่อนคือบริเวณข้อพับและกระดูกด้านข้างของเข่าข้อพับจะมีเส้นเลือดมากและเป็นบริเวณที่อ่อนนิ่ม ไม่มีตัวคุ้มกัน ฉะนั้น เราจะไม่นวดที่ใต้ข้อพับ ส่วนบริเวณกระดูกด้านข้างก็มีเส้นเอ็นเกาะไม่ควรนวดแรงที่เส้นเอ็นนี้
              หน้าแข้ง : จุดอ่อนคือบริเวณด้านหน้าของหน้าแข้งนี่เอง เพราะเป็นบริเวณที่มีผิวหนังบาง ๆ มาหุ้มเท่านั้น ไม่มีกล้ามเนื้อมาช่วยป้องกันการกดนวดบริเวณนี้จะสัมผัสกระดูกหน้าแข้งทันที่ ควรระวังอย่ากดแรงเท่านั้นก็พอ
           
          ข้อเท้าและเท้า : จุดอ่อนคือบริเวณด้านข้างทั้งสองข้าง ซึ่งอาจจะเกิดการพลิกแพลง ทำให้ข้อเคล็ดได้ แต่โดยปกติแล้วการนวดทั่วไปทำได้โดยไม่ต้องระวังมากนัก นอกจากนวดขณะมีอาการบาดเจ็บ ต้องระวัง เพราะพังผืดบริเวณนี้ตื้นจะกระทบกับแรงที่กดได้ง่าย ส่วนเท้านั้นอาจมีจุดอ่อนบ้างบริเวณใต้ฝ่าเท้า แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากนัก เราสามารถนวดฝ่าเท้าได้ถ้าไม่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บมาก่อน
                
                 จะเห็นได้ว่าข้อควรระวังเหล่านี้ เราจะทำกานวดให้ปลอดภัยและมีผลดี เราจะต้องมีความรู้และความแม่นยำในการนวดอย่างดีพอสมควร ฉะนั้นการนวดให้ดีจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำได้ นี่จึงเรียกว่าการนวดเป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษาอย่างจริงใจ และผู้นวดจะต้องคำนึงถึงข้อควรระวังทุกครั้งที่ทำการนวดด้วย


  วิธีนวด
           หลังจากที่ได้ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับการนวดมา ผมก็ได้ยกตัวอย่าง หรือ วิธีการนวด ต่างๆ มาให้ได้อ่านกันครับ เช่น การนวดหลังเท้า ว่าต้องนวดอย่างไร การนวดข้อเท้า นวดศีรษะ นวดยังไง ลองอ่านและฝึกทำดูนะครับ


การนวดหลังเท้า ใช้มือจับเท้าไว้ โดยให้หัวแม่มืออยู่บนหลังเท้า แล้วกดนวดอย่าให้แรงมาก โดยเริ่มจากปลายนิ้วเท้าทั้งซ้ายและขวา ไปจรดข้อเท้าด้านหน้า แล้วกดวนไปให้ทั่วบริเวณหลังเท้าสัก 4 เที่ยว (บริเวณหลังเท้านี้มีพังผืด หนัง และกระดูดเป็นส่วนมาก ไม่สมควร กดนวดแรงๆ จะเจ็บและอักเสบได้ และอย่าใช้นิ้วขยี้เป็นอันขาด)



การนวดข้อเท้า การนวดข้อเท้านี้ ผู้นวดนั่งอยู่ปลายเท้าผู้มานวด โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างรวบข้อเท้าของผู้มานวดไว้ ใช้นิ้วหัวแม่มือกดนวดใต้ตาตุ่มและเส้นเอ็นร้อยหวาย โดยใช้วิธีกดเน้นและกดเปิดประตูลมที่เอ็นร้อยหวายทั้งสองข้างเท้า กดแช่ไว้ประมาณ 20 วินาที แล้วพักไว้สักครู่จึงกดใหม่ ทำดังนี้สัก 3 ครั้ง การเปิดประตูลม ณ จุดนี้จะเสียวไปถึงสะโพก

การใช้มือโยกข้อเท้า การโยกข้อเท้านี้ ผู้นวดคงนั่งอยู่โดยใช้มือขวาจับฝ่าเท้า ใช้มือซ้ายจับปลายเท้า โยกข้อเท้าอย่างช้า ๆ ไปทางขวาบ้าง ไปทางซ้ายบ้าง อย่าโยกหนัก โยกเพียงเล็กน้อยอย่าทำให้เจ็บ โยกพอให้รู้สึก วิธีนี้ใช้ได้ทั้งสองข้อเท้า ทำข้างละ 4 ครั้ง


การนวดขมับ ผู้มานวดคงนอนหงายอยู่ตามเดิม ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองกดลงไปที่หน้าผาก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดให้ตรงกันบนหน้าผากแล้วจึงใช้นิ้วมือทั้ง 4 คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย กางออกไปที่บริเวณขมับทั้งสอง โดยใช้พร้อมกันทั้งสองมือ กด ถู เบา ๆ บริเวณขมับทั้งสองไม่ต้องขยับเขยื้อนมือ ใช้แต่เพียงปลายนิ้วเท่านั้น กดถูสัก 10 ครั้ง


การนวดศีรษะ ผู้มานวดนั่งตัวตรง การนวดศีรษะนี้เป็นการนวดให้สมบูรณ์ครบถ้วนตามสรีระร่างกาย เพื่อให้ระบบ “ไตรธาตุ” มีการไหลเวียนที่สมบูรณ์การนวดศีรษะนี้ เริ่มจากใช้นิ้วหัวแม่มือไล่กดจากเชิงผมที่หน้าผาก ไปสู่กลางศีรษะ ซึ่งเรียกว่า “จอมประสาท” เวลากดควรที่จะเกร็งมือเล็กน้อยระวังอย่าให้แรง แล้วกดนวดไล่ไปจนจรดท้ายทอย และนวด บริเวณหลังใบหูขวา ใบหูซ้าย กดเพียงให้ตึงมือเล็กน้อยก็พอ ก็จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง



ผลดีของการนวด
        -  ทำให้กล้ามเนื้่อเส้นเอ็นพังผืด ทำให้ยืดคลายลดการเกร็งตัว การเคลื่อนไหวของอวัยวะดีขึ้น
        -  ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
        -  ผลต่อระบบประสาททำให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาท
        -  ผลต่อจิตใจและอารมณ์

ผลเสียของการนวด
        -  อาจทำให้หลอดเลือดฉีกขาด
         -   ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นพังผืดชอกช้ำฉีกขาด
         -   ทำให้เส้นประสาทฉีกขาด หรือเกิดการอักเสบ ความรู้สึกลดลง หรือ มีอาการเจ็บปวดทำให้ข้อต่อเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม กระดูกแตกหัก


การสัมภาษณ์

     หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ และ ศึกษาเกี่ยวกับ เรื่องการนวดแผนไทย เพราะรู้สึกมันน่าสนใจ ยิ่งอ่านลึก ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก ผมเลยคิดว่าจะไปหาร้านนวดแผนไทยสักที่ เพื่อขอเขาสัมภาษณ์ดีไหม และพอดีก็มีเปิดร้านนวดแผนไทย ไม่ไกลจากบ้านผมมากนัก ผมก็เลยถือโอกาส โดยการไปขอ
     อนุญาติเขาสัมภาษณ์ เกี่ยวกับเรื่องนวดแผนไทยครับ ซึ่งเขาก็อนุญาติให้สัมภาษณ์ ผมก็เลยจัดการนัดวันสัมภาษณ์กะเขาเลยครับ เมื่อถึงวัน ผมก็ได้เตรียมกล้อง และ นัดหมายเพื่อน ให้มาเป็นตากล้องให้ผมหน่อย ซึ่งเพื่อนผมก็ใจดี๊ใจดี มาเป็นตากล้องงานสัมภาษณ์นี่ให้ผมด้วยครับ
    และคนที่ให้ผมสัมภาษณ์ ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องนวดแผนไทยครั้งนี้ ก็เป็น คุณป้าท่านหนึ่งครับ คุณป้าท่านนี่เขาอายุกลางๆแล้วครับ ที่ผมถามน่าจะ 50 กว่าแล้วนะครับ แต่หน้า ป้าเขายังเด้ง อยู่เลยครับ ดูได้จากภาพข้างล่างได้เลยครับ ว่าเด้งจริงๆ 555 ป้าเขาชื่อว่า ป้าแก้ว ครับผม


ป้าแก้ว ครับ หน้าใสเนียนเด้ง กว่าผมอีกอ่ะ อิจฉาาา >.<

    หลังจากที่มาถึงร้านนวดแผนไทยของ คุณป้าแก้ว แล้ว ผมก็ ทักทาย สวัสดีคุณป้าแก้ว ครับ ป้าแก้วใจดีมากกก เป็นกันเอง แต่แกไม่ค่อยกล้าพูด แกบอกผมว่า แกไม่กล้าออกกล้องครับ แกเป็นคนขี้อายมาก อย่าว่าแต่ป้าแก้วเลยครับ ผมก็อายยยมากกเหมือนกัน และนี่ก็เป็นการสัมภาษณ์ครั้งแรกของผมเหมือนกันครับ ถ้าพวกคุณได้เห็นคลิป ผมจะยุกยิกๆตลอดเวลา เพื่อแก้เขิน ยังไงก็ขออภัยด้วยนะครับ ต่อครับ ป้าแก้วแกให้การต้อนรับดีมากเลยครับ มีน้ำ ขนม มาให้ผมกินด้วย จนผมรู้สึกละอายใจมาก เพราะไม่ได้หิ้วไรมาฝากแกเลย แหะๆ แต่หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ผมก็ซื้อมาฝากแกที่หลังนะครับ ><"
    หลังจากนั้น ผมและเพื่อน ก็ตั้งกล้องกัน และถ่าย การสัมภาษณ์กัน ผมให้คุณป้าแก้ว แนะนำตัวก่อนเลยครับ ซึ่งแกก็พูดติดๆขัดๆ นิดๆ จนผมเชื่อสนิทเลยว่า แกไม่กล้าออกกล้อง และ ขี้อายจริงๆ ผมเลยสั่งคัท และเริ่มใหม่ บอกให้ป้าแก้วใจเย็นๆครับ ไม่ต้องรีบร้อน 555 ซึ่งพอรอบต่อมา แกก็ทำได้ดี เยี่ยมครับ แกปรับตัวได้เร็วมากกกกก  ต่อมาผมก็ถามคุณป้าแก้วว่า แกเปิดร้านนวดแผนไทยมากี่ปีแล้ว ป้าแก้วก็บอกว่า 5 ปีแล้วครับ แต่ประสบการณ์ของแก 10 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่นานเหมือนกันครับ


สัมภาษณ์ไปตื่นกล้องไป :(


      การที่เราจะทำอะไรซักอย่าง เราจะต้องมีแรงบันดาลใจใช่ไหมครับ ผมจึงถามป้าแกว่า อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจ ให้แกได้มาเป็น หมอนวดแผนไทยจนถึงทุกวันนี้ครับ ป้าแก้วก็ตอบได้น่ารักมากเลยว่า แกชอบนวด ใจรัก และแกอยากช่วยคนครับ เพราะการนวดแผนไทยเนี่ย มันสามารถรักษาโรคบ้างโรคได้ และคำถามต่อมา ผมก็ถามแกว่า คนที่มานวดเนี่ย ส่วนมากจะเป็นพวกคนวัยไหน แกบอก ก็มีทุกวัย แต่ส่วนมากที่มาจะเป็นพวก คนมีอายุ วัยรุ่นก็มี คนมีอายุจะมานวดจับเส้น ส่วน วัยรุ่นจะมานวดผ่อนคลายครับ
      และต่อมาก็เป็นคำถามที่ผมก็สงสัย และอยากรู้เหมือนกันว่า การนวดแผนไทย เขาใช้สมุนอะไรในการนวดครับ ซึ่งป้าแก้วก็บอกว่าจะมีพวก ไพร ขมิ้น มะกรูด พิมเสน ที่ใช่ในการนวด ต่อมาผมก็ถามป้าแก้วว่า ข้อดีของการนวดเนี่ย มันมีข้อดียังไงบ้าง ป้าแก้วก็บอกว่า มันจะช่วยเรื่องของเส้น เรื่องเลือดที่ทำให้มันหมุนเวียนดีขึ้น มือเท้าชา ก็สามารถช่วยได้ พวกโรคต่างๆ ก็สามารถรักษาโดยการนวดให้หายได้ เช่น อัมพฤตอัมพาต ครับ



 มีความสุข และสนุก กับการได้สัมภาษณ์ป้าแก้ว มากครับ :)

      และนี่ก็เป็นบทสัมภาษณ์ทั้งหมด ที่ผมได้ถามคุณป้าแก้วครับ และหลังจากนี้ ป้าแก้วก็สาธิต การนวด นิดๆหน่อยครับ ซึ่งคนนวด ไม่ใช่ผมครับ แต่เป็น เพื่อนผมเองครับ เขาอยากเป็นตัวแทน และอยากโดนป้าแก้วนวด และเป็นช่วงที่เพื่อนผมบอกปวดเมื่อยบ่อยๆด้วยครับ ผมเลยอนุญาติ ให้เป็นตัวแทนไป 555+ หลังจากแกสาธิตเสร็จ ผมก็เสร็จธุระในการสัมภาษณ์หมดแล้วครับ ผมก็เลยนั่งคุยกับแกเรื่อยเปื่อยไปสักพัก แอบกระซิบถามแกนิดหน่อยเรื่องหน้าเด้งครับ 55+
   
     สุดท้ายผมก็ขอบคุณป้าแก้วอย่างสูง และ ขอบคุณเรื่องการให้ข้อมูลเรื่องการนวดแผนไทยกับป้าแก้วผม ก่อนกลับ ผมก็ให้ของตอบแทนแกนิดๆหน่อยๆครับ และผมก็บอกกับแกว่า วันหลังผมจะมาพาแกใหม่ และ ก็จะมาลองนวดดูด้วยครับ :) (ปล.แอบมาบอกว่า กลับไปลองนวดกับท่านแม่มาเรียบร้อยแล้วครับ หลังจากนวด สบายตัวมากกกก เดินคล่องปื้อเลยครับ)

และนี่คือ ตากล้อง และ ตัวแทน ในการโดนนวดของผมครับ นางแซ่บนะขอบอก !!! 

   และท่านผู้ชม คนไหน ไม่ชอบที่จะอ่าน หรือ ชมเป็นภาพ ผมก็มีคลิปในการสัมภาษณ์ มาลงให้ดูกันครับ รับรอง สนุก และ แซ่บเหมือนเดิมครับ ยังไงก็ขอจบการนำเสนอ การนวดแผนไทยเพียงเท่านี้นะครับ ใครมีคำถาม หรือ อยากถามอะไร สงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องการนวดแผนไทย คอมเม้น ถามบอกได้นะครับ แล้วเดียวอันไหนที่ผมไม่รู้ ว่างๆ จะไปขออนุญาติ ถามคุณป้าแก้ว มาให้นะครับ :)

      สำหรับใครที่สนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับนวดแผนไทยต่อ และ อยากรู้ว่าผมเอาข้อมูลมาจากหนังสืออะไร ผมเอามาจากหนังสือ 2 เล่มนี้ครับ


เรื่อง "นวดพลังจักรวาล ชุบกาย สลายโรค"

 เรื่อง "นวดไทย Thai Massage สัมผัสบำบัดเพื่อสุขภาพ"

    ท่านที่จะซื้อลองไปดูตามร้านหนังสือนะครับ ผมว่าน่าจะมีนะครับ สำหรับ 2 เล่มนี้ ผมยืมมาจากห้องสมุดครับผม :) ขอบคุณครับ

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา 3.0 ประเทศไทย.